พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งกองเรือทุ่นระเบิด: เมื่อปี พ.ศ.2446 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมทหารเรือ กำหนดให้มี “กองทุ่นระเบิด” ขึ้น ต่อมา ปี พ.ศ.2485 ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือดำน้ำเข้ามาวางทุ่นระเบิดบริเวณเกาะริ้น เกาะสีชัง และเกาะคราม เป็นเหตุให้เรือซิดนีย์มารู (Sydney Maru) ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยในเวลานั้นถูกทุ่นระเบิดได้รับความเสียหายอย่างหนักทำให้เรือสินค้าและเรือประมง ไม่กล้าที่จะออกทะเล ทัพเรือ (หน่วยสนามของราชนาวีในขณะนั้น) จึงได้ลงคำสั่งยุทธการให้ ร.ล.จวง(ลำเก่า) ร่วมกับเรือประมงจำนวนหนึ่งเป็นหมู่เรือกวาดทุ่นระเบิด ออกปฏิบัติการระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2485-22 มกราคม 2486 นับเป็นการ “ปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิดครั้งแรก” ที่มีการบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้เรืองราวทางประวัติศาสตร์ของสงครามทุ่นระเบิด กองเรือทุ่นระเบิดจึงได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งกองเรือทุ่นระเบิดขึ้นที่กองเรือทุ่นระเบิด แหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
กองเรือทุ่นระเบิดจะดำรงความพร้อมในด้านสงครามทุ่นระเบิดและจะไม่หยุดที่จะพัฒนาขีดความสามารถของกำลังทางด้านสงครามทุ่นระเบิดให้พร้อมที่จะเผชิญต่อภัยคุกคามที่หลากหลายรูปแบบ สมดังอมตะคำขวัญของกองเรือทุ่นระเบิดที่ว่า “ทำศึกทุ่นระเบิด เปิดวิถีนาวา ขวางมรรคาไพรี”
จุดเด่น : เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงทุ่นระเบิดทางเรือแห่งเดียวในประเทศไทย
เวลาทำการ : ทุกวัน 6.00-18.00 ไม่มีค่าเข้าชม
ที่ตั้ง : กองเรือทุ่นระเบิด แหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ
ขี่เสือเที่ยว 24/10/58 : ขี่เสือตะลุย “กองเรือทุ่นระเบิด”